การสำรองข้อมูล (Backup) คืออะไร? แก้ปัญหาข้อมูลหาย กู้คืนง่าย

ปัจจุบันข้อมูลส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่จับต้องได้เหมือนสมัยก่อน แต่ถูกเก็บไว้ในรูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นไฟล์งาน รูปภาพ หรือข้อมูลทางธุรกิจ ซึ่งหากไม่ได้ทำการสำรองข้อมูล (Backup) ไว้ แล้วอุปกรณ์ที่มีข้อมูลอยู่เกิดพังหรือถูกโจรกรรมข้อมูลจากแฮกเกอร์ขึ้นมา ก็คงยากที่จะกู้คืนได้ บทความนี้จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักว่าการสำรองข้อมูลคืออะไร? มีวิธีการทำอย่างไร? และการสำรองข้อมูลมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ตามไปอ่านกันได้เลย

การสำรองข้อมูลหรือการแบ็คอัพ (Backup) คืออะไร?

การสำรองข้อมูล คือ การทำสำเนาข้อมูลสำคัญต่างๆ และเก็บแยกไว้อีกที่เพื่อป้องกันการสูญหายของข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้กู้คืนข้อมูลกลับมาได้ไวในกรณีที่เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายของอุปกรณ์ ความผิดพลาดในการอัปเดตระบบ ข้อมูลถูกลบโดยไม่ตั้งใจ หรือการโจมตีจากไวรัสและมัลแวร์ เป็นต้น 

การสำรองข้อมูลมีกี่แบบ?

เมื่อทราบความหมายของการสำรองข้อมูลกันไปแล้ว มาดูกันต่อเลยว่ารูปแบบของการสำรองข้อมูลมีอะไรบ้าง โดยพื้นฐานจะแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้

1. Full Backup

Full Backup คือ การทำสำเนาข้อมูลทั้งหมด เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนการจำลองบ้านทั้งหลังที่มีหน้าตาเหมือนกันเป๊ะๆ ไปตั้งไว้อีกที่หนึ่ง วิธีนี้จะช่วยให้มั่นใจว่าข้อมูลทุกอย่างอยู่ครบ แต่เนื่องจากข้อมูลมีปริมาณมาก อาจทำให้ต้องใช้เวลาโอนถ่ายข้อมูลค่อนข้างนานกว่าปกติ 

2. Incremental Backup

Incremental Backup คือ การทำสำเนาเฉพาะข้อมูลที่เพิ่มหรือมีการเปลี่ยนแปลงจากการสำรองข้อมูลครั้งก่อนหน้า วิธีนี้จะประหยัดทั้งเวลาและพื้นที่ เพราะไม่ต้องสำรองข้อมูลใหม่ทั้งหมดทุกครั้ง

3. Differential Backup

Differential Backup คือ การสำรองเฉพาะข้อมูลที่เปลี่ยนไปจากการสำรองข้อมูลแบบ Full Backup ครั้งล่าสุด ซึ่งจะใช้เวลาและพื้นที่มากกว่า Incremental Backup แต่ก็ยังน้อยกว่า Full Backup

ประโยชน์ของการสำรองข้อมูล

การสำรองข้อมูลควรทำอย่างสม่ำเสมอ เช่น สัปดาห์ละครั้ง หรือเดือนละครั้ง เพราะประโยชน์ของการสำรองข้อมูลไม่ใช่แค่เอาไว้เผื่อข้อมูลหายเท่านั้น แต่ยังมีข้อดีมากมาย ดังนี้

  • อุ่นใจไม่ต้องกลัวข้อมูลหาย

ประโยชน์หลักๆ ของการแบ็คอัพ คือ ช่วยป้องกันข้อมูลสูญหาย จึงอุ่นใจได้ว่าถึงจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันใดๆ เกิดขึ้น ก็ยังมีสำเนาข้อมูลสำคัญเก็บไว้ และสามารถทำงานต่อไปได้แบบไม่สะดุด แต่หากไม่ได้สำรองข้อมูลไว้ ระบบอาจใช้งานไม่ได้ชั่วคราว หรือที่แย่กว่านั้นข้อมูลอาจจะหายไปแบบถาวร

  • กู้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

การกู้คืนข้อมูลจะทำได้เร็ว เพราะมีสำเนาที่สมบูรณ์และใกล้เคียงกับข้อมูลที่มีการอัปเดตล่าสุด นอกจากนี้ในกรณีที่มีการอัปเกรดระบบ แก้ไขข้อมูลใหม่แล้วเกิดข้อผิดพลาด ใช้งานไม่ได้ ก็สามารถไปดึงข้อมูลเวอร์ชันก่อนหน้ามาใช้ได้เลย โดยไม่ต้องสร้างข้อมูลใหม่ทั้งหมด

  • ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

การกู้คืนข้อมูลที่ไม่ได้สำรองไว้ เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากจะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญ อาจต้องเสียค่าซอฟต์แวร์และเครื่องมือเฉพาะ อีกทั้งยังต้องใช้เวลาเป็นวันหรือนานเป็นสัปดาห์ แถมยังไม่สามารถการันตีได้ด้วยว่าจะกู้คืนได้ทั้งหมด 

  • สร้างความน่าเชื่อถือ

หากการทำงานต้องหยุดชะงักเพราะข้อมูลสูญหาย จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้ธุรกิจเสียรายได้ ลูกค้าเกิดความไม่พอใจ ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของบริษัทก็จะเสียหายตามไปด้วย แต่หากบริษัทมีระบบสำรองข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และลดผลกระทบเหล่านี้ลงได้

เลือกอุปกรณ์สำรองข้อมูลแบบไหนดี

อุปกรณ์สำรองข้อมูลมีหลายแบบให้เลือก ขึ้นอยู่กับการใช้งาน พื้นที่จัดเก็บที่ต้องการ และงบประมาณ ดังนี้

  • HDD (Hard disk) หรือ ฮาร์ดดิสก์

ฮาร์ดดิสก์ (Hard disk) เป็นอุปกรณ์สำรองข้อมูลหลักของคอมพิวเตอร์ ใช้เก็บทุกอย่างตั้งแต่ไฟล์งาน โปรแกรม รูปภาพ วิดีโอ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นในการทำงานของคอมพิวเตอร์ ความจุแตกต่างกันไปตามรุ่นและยี่ห้อ เช่น 500GB, 1TB, 2TB, 4TB และยังมีแบบพกพา หรือ External Harddisk ที่สามารถเชื่อมต่อผ่าน USB ได้ด้วย

  • SSD (Solid State Drives) 

ข้อดีของการใช้ SSD (Solid State Drives) แบ็คอัพข้อมูล คือ มีความเร็วในการทำงานที่สูงกว่าฮาร์ดดิสก์ รวมถึงอายุการใช้งาน และความทนทานที่มากกว่า เพราะมีรูปแบบการทำงานที่เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ต่างจากฮาร์ดดิสก์ที่ทำงานแบบกลไกและต้องอาศัยการหมุนของจานแม่เหล็ก แต่ราคาก็สูงกว่าด้วย

  • แฟลชไดรฟ์ (Flash Drive) 

แฟลชไดรฟ์ หรือชื่ออื่นๆ ที่คนเรียกกัน เช่น Thumb Drive, Handy Drive, USB Drive เป็นอุปกรณ์สำรองข้อมูลขนาดเล็ก เหมาะสำหรับพกพา ใช้ได้กับหลายอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน โดยมีราคาสูงขึ้นตามขนาดความจุ 

  • NAS (Network Attached Storage)  

NAS คืออุปกรณ์เก็บข้อมูลบนเครือข่าย คล้ายกับเซิร์ฟเวอร์แต่ใช้งานง่ายกว่า จุดเด่นคือผู้ใช้ทุกคนสามารถแชร์ข้อมูลร่วมกันได้ผ่านเครือข่าย จึงเหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการพื้นที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ หรือที่เก็บข้อมูลส่วนกลาง โดย NAS จะมีฮาร์ดไดรฟ์หลายตัวอยู่ในอุปกรณ์เดียวกัน และยังเพิ่มหรือลดจำนวนฮาร์ดไดรฟ์ได้ตามต้องการ แต่ข้อเสียคือราคาค่อนข้างสูง

  • SAN (Storage Area Network)

SAN ถูกพัฒนามาเพื่อแก้ไขประสิทธิภาพที่ลดลง เมื่อมีการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากพร้อมกันในระบบ NAS โดยใช้การเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลและเซิร์ฟเวอร์ ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า เหมาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีปริมาณข้อมูลมหาศาล และมีการเข้าถึงข้อมูลพร้อมกันจากหลายเซิร์ฟเวอร์

วิธีแบ็คอัพข้อมูลให้มั่นใจ ไม่หายแน่นอน!

วิธีสำรองข้อมูลที่ดีที่สุด ควรทำทั้งแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์ควบคู่กัน เผื่อในกรณีที่อุปกรณ์สำรองข้อมูลเกิดเสียหาย ก็ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยมีหลายวิธีให้เลือกใช้ ดังนี้

  • การสำรองข้อมูลแบบออฟไลน์ (Offline Backup)

การสำรองข้อมูลแบบออฟไลน์ (Offline Backup) เป็นหนึ่งวิธีที่ทำได้ไม่ยากและไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต วิธีการ backup ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ก็สามารถทำผ่านโปรแกรม backup ข้อมูล เช่น File History ของ Windows, Time Machine ของ macOS หรือสำรองข้อมูลเก็บไว้ในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แฟลชไดรฟ์, Harddisk หรือ SSD แบบพกพา โดยนำมาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หลัก ข้อดีคือสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องมีอินเทอร์เน็ต แต่ข้อเสียก็คืออุปกรณ์มีโอกาสที่จะเสียหายหรือสูญหายได้ หากพื้นที่เต็มก็จะต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ ขยายเพิ่มไม่ได้

  • การสำรองข้อมูลในระบบคลาวด์ (Cloud Backup)

การใช้บริการเก็บไฟล์ข้อมูลบนคลาวด์เป็นที่นิยมมาก เพราะเป็นการเช่าพื้นที่ออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูล จึงไม่ต้องพกอุปกรณ์ให้หนัก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขอแค่มีอินเทอร์เน็ตก็โอนถ่ายและเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลาจากทุกอุปกรณ์ ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน อีกทั้งการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ยังมีราคาถูกกว่า ไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษา ความปลอดภัยสูง และสามารถปรับขนาดพื้นที่ได้ตามต้องการ 

  • การสำรองข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว (VPS Backup) 

การสำรองข้อมูลบน VPS หรือ Virtual Private Server เป็นการสำรองข้อมูลแบบออนไลน์ประเภทหนึ่ง เรียกง่ายๆ ว่า การเช่าเซิร์ฟเวอร์ โดยผู้ให้บริการจะแบ่งเซิร์ฟเวอร์หลักออกเป็นเซิร์ฟเวอร์ย่อยๆ สำหรับให้เช่า แต่ละเซิร์ฟเวอร์จะแยกกันอย่างชัดเจน มีทรัพยากรเป็นของตัวเอง และทำงานเป็นอิสระจากกัน จึงสามารถติดตั้งโปรแกรม ตั้งค่า หรือปรับแต่งการทำงานของตัวเองได้ และถึงแม้เซิร์ฟเวอร์อื่นในระบบจะเกิดปัญหา ก็จะไม่กระทบมาถึงเรา จึงเหมือนได้เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวโดยที่ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์เองเลย

ทุกคนคงจะหายสงสัยกันแล้วว่าการสำรองข้อมูลคืออะไร และจำเป็นแค่ไหน ถ้าหากข้อมูลของเราเกิดสูญหาย หากเป็นแค่ไฟล์ข้อมูลทั่วไปก็อาจจะแค่เสียดาย แต่หากเป็นข้อมูลสำคัญในธุรกิจ อาจสร้างความเสียหายมากกว่าที่คิด เพราะฉะนั้นการลงทุนและเลือกวิธีการสำรองข้อมูลที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ จึงถือเป็นสิ่งที่คุ้มค่าสุดๆ VPS HiSpeed เราคือ บริษัท คลาวด์ โฮสติ้ง ชั้นนำที่พร้อมให้บริการ VPS หรือ Cloud Hosting แบบพรีเมียม ด้วยเซิร์ฟเวอร์คุณภาพสูงที่คุณจะสามารถใช้งานได้อย่างลื่นไหลไร้กังวล บริการของเรามาพร้อมระบบสำรองข้อมูลของเซิร์ฟเวอร์ในตัวแบบไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แถมด้วยสิทธิประโยชน์อีกมากมายที่คุ้มเกินราคา พิสูจน์ได้แล้ววันนี้ ทดลองใช้ VPS ฟรี 7 วัน!! ติดต่อผู้เชี่ยวชาญของเราได้เลย

บริการ Premium VPS และ Cloud Hosting เร็วกว่าด้วยเซิร์ฟเวอร์ในไทย

รับส่วนลด 50%

รับส่วนลด 50% ท้าให้ลอง VPS ที่ได้รับรีวิวบริการดีเยี่ยมสูงสุดใน Google Review